Custom Search

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กินแหนมเนือง กับเมี่ยงปลาเผา ที่อุดร

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน

อาทิตย์ที่ผ่านมา มิสเตอร์โต้งมีภารกิจที่ต้องไปพบลูกค้าที่ขอนแก่น ที่ตามเทรนด์เรียกว่า งานเข้า
เอใจนึงก็อยากไป อีกใจนึงก็ไม่อยากไป แต่สรุปแล้วต้องไป ออกจากกรุงเทพฯ ราว ๆ บ่ายสองของวันอาทิตย์ ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพ ระยะทางกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่นน่าจะอยู่ในราว 400 กว่ากิโลเมตร ประมาณซัก เกือบ 3 ทุ่ม ก็ถึงขอนแก่น ไม่น่าเชื่อห้องพักในเมืองเต็มแทบทุกที่ ขนาดโรงแรมที่ไปพักเป็นประจำก็เต็ม เลยต้องระเห็จไปพักที่เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ชื่อ “บ้านสวย” สนนราคาก็ไม่แพงมาก คืนละ 350 บาท สภาพห้องถ้าไม่คิดอะไรมากก็ถือว่าพอใช้ได้ อยู่แถว ๆ สถานีรถไฟขอนแก่น

ตอนเช้าเวลาไปต่างจังหวัด ผมชอบเสาะหาร้านขายอาหารเช้าเจ้าเด็ด ๆ ด้วยความเป็นคนชอบกิน อย่างที่ขอนแก่น ต้องที่นี่เลยครับ “ร้านเอมโอษฐ์” อยู่ใกล้ ๆ สถานีขนส่ง
ถ้าไปไม่ถูกผมว่าถามคนขอนแก่นน่าจะรู้จักทุกคนนะครับ ร้านเอมโอษฐ์เนี่ยขายอาหารเช้าคล้าย ๆ ABF ของฝรั่งนะครับ ของร้านเค้าจะเป็นแป้งจี่ หน้าตาจะเป็นขนมปัง (เหมือนที่กินกับไอติมแบบตัก แล้วรองก้นด้วยข้าวเหนียว พร้อมโรยถั่วนะครับ) แต่ขนมปังอันนี้ปลายจะแหลมเล็กน้อย แล้วจะมีใส้หมูยอ กับกุนเชียง ก่อนเสริฟเค้าจะไปใส่ในไมโครเวฟให้ร้อน สั่งพร้อมกับไข่กระทะ หน้าตาน่ากิน ตอนสั่งทางร้านก็จะถามว่าจะกินกับชาหรือกาแฟ ถ้าให้เด็ดต้องมีน้ำส้มคั้นสด ๆ อีกหนึ่งแก้ว เท่านี้รับรองว่าอยู่ได้ถึงเที่ยงสบาย ๆ ครับ

ด้วยภารกิจในการไปเยี่ยมลูกค้าที่ขอนแก่น ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงก็เสร็จงาน เอาละซี ไปไหนต่อดี ทำให้เกิดพุทธิไอเดียแวบเข้ามา ไปอุดรดีกว่า เพราะที่นั่นมีลูกค้าเป้าหมายอยู่ ไหน ๆ มาขอนแก่นแล้วเวลาเหลือ ก็น่าจะขึ้นไปอุดรซะเลย เพราะระยะทางห่างกันซักประมาณ 120 กว่ากิโล ขับรถแป๊บเดียวก็ถึง เร็วเท่าความคิดครับ 4 โมงเย็นผมกับเพื่อนอีกคนก็มายืนหน้าแป้นที่ห้างโรบินสัน อุดรธานี แล้วครับ


อุดรธานี ในส่วนที่ผมรู้จักมากที่สุด ที่นี่เลยครับ สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี หนองประจักษ์เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เมื่อก่อนเรียกว่า "หนองนาเกลือ" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "หนองประจักษ์" เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลเมืองอุดรธานี ได้ทำการปรับปรุงหนองประจักษ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยบริเวณตัวเกาะกลางน้ำได้จัดทำสวนหย่อมปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด และทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะมีน้ำพุ หอนาฬิกา และสวนเด็กเล่น แต่ละวันจะมีประชาชนเข้าไปพักผ่อนและออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก ถ้าได้ไปอุดร ตอนเย็น ๆ อย่าลืมไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะนี้นะครับ


ที่พัก ที่อุดร ต้องที่นี่เลยครับ อุดรรีสอร์ท เข้าออกได้หลายทางครับ ถ้าสะดวกที่สุด อยู่เลยโลตัสไปนิดเดียวที่นี่ค่าห้องไม่แพงครับ 350 บาท ต่อคืน สะอาดเอี่ยมครับ จัดสถานที่เหมือนรีสอร์ทจริง ๆ ทั้งที่อยู่ในเมือง ยิ่งไปตอนหน้าหนาวได้บรรยากาศสุดยอดครับ ตอนกลางคืนด้านหน้าโรงแรม เค้าจะมีร้านอาหารเล็ก ๆ ค่อนข้างเก๋ทีเดียว มีดนตรีเล่นด้วยนะครับ คนเล่นคนเดียว ท่านผู้อ่านคนใดที่อายุอานามประมาณไม่เกินซัก 40(แฮ่ ๆ รุ่น ๆ เดียวกับผู้เขียนนี่แหละครับ) คนอยู่ในยุคอ๊อดคีรีบูน,อ๊อดบรั่นดี,ฟรุ๊ตตี้,วงเพื่อน ฯลฯ เวลามาพักที่อุดรรีสอร์ท ต้องมานั่งฟังเพลงที่ร้านนี้เลยนะครับ แล้วบรรยากาศเพลง "งานวัด" จะกลับมาครับ อ้อ! เบอร์โทร อุดรรีสอร์ท ตามนี้เลยครับ 042-324222 หรือ http://www.udonresort.com/ โทรไปจองก่อนนะครับ เพราะเดี๋ยวห้องเต็มครับ

ที่นี้ก็มาถึงร้านอาหารที่อยากแนะนำแล้วครับ มาอุดรทั้งที ต้องที่นี่เลยครับ วีทีแหนมเนือง ทีแรกนึกว่าเป็นร้านของคุณวิทวัสฯ รายการตีสิบ แต่ปรากฎว่า เจ้าของเอาชื่อของคุณพ่อกับคุณแม่มาตั้งเป็นชื่อร้าน (คุณพ่อชื่อตวน คุณแม่ชื่อวี) คุณพ่อคุณแม่เจ้าของร้านเป็นชาวเวียดนามที่เข้ามาอยู่ในหนองคายครับ ร้านดั้งเดิมอยู่ที่หนองคาย ชื่อ แดงแหนมเนือง ครับ (วันหลังถ้าไปหนองคายต้องไปลองชิมให้ได้) แต่ที่อุดร ลูก ๆ มาเปิดเองประมาณซัก 20 ปี แล้วมังครับ

วันนั้น มิสเตอร์โต้ง ไปกัน 3 คน ก็เลยจัด นี่เลยครับ แหนมเนืองชุดใหญ่ หน้าตาก็คล้าย ๆ กับแหนมเนืองที่เรากินทั่ว ๆ ไปนั่นแหละครับ แต่รสชาดเด็ดขาดกว่าครับ แล้วก็มี ขนมจีนแกงไก่,ไส้กรอกทอด,กระยอสด แล้วก็กระยอทอด เหมือนป่อเปี๊ยะทอด เจอเข้าไปชุดนี้ อยู่เลยครับ ใครที่ชอบกินผัก พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงครับ ทานเสร็จจะซื้อเป็นของฝากก็ยังได้ ที่ร้านนี้ขายดีมากครับ เปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00 - 20.30 น. ไปไม่ถูกโทร.ไปที่เบอร์นี้ครับ 042-347111,042-348740-2 แฟกซ์ 042-348551 หรือ http://www.vtnamnueng1997.com/ มีโอกาสอย่าพลาดนะครับ รับรองไม่ผิดหวัง

อีกเมนูนึงที่จะแนะนำครับ เมี่ยงปลาเผา ไม่แน่ใจว่าอาหารแนว ๆ นี้ ได้รับอิทธิพลมาจากเวียดนามหรือเปล่าเพราะหน้าตาไม่ใช่อาหารอีสานแน่ ๆ ครับ ร้านปลาเผาเนี่ยอยู่ในตลาดใกล้ ๆ สถานีรถไฟอุดรครับ มีหลายร้านมาก เลือกได้ตามใจชอบครับ สนนราคาไม่แพงครับ ปลาที่เอามาเผา เป็นปลานิล ครับ ตัวเขื่องทีเดียวคะเนจากสายตาแล้ว ตัวนึงประมาณซัก 8 ขีด ถึง หนึ่งกิโล แต่รับประกันได้ว่า ไม่ใช่ปลาจากบ่อดินที่เลี้ยงด้วยขี้ไก่ เพราะจากการชิมแล้วไม่มีกลิ่นดินแม้แต่นิดเดียว น่าจะเป็นปลาที่เลี้ยงในกระชังครับ แม่ค้าเค้าจะเอาปลานิลมาย่างเกลือครับ แล้วก็เอาเครื่องจำพวก ตะไคร้ ใบมะกรูด ยัดท้องปลาไว้นะครับ นัยว่าน่าจะทำให้ไม่มีกลิ่นคาว ย่างจนสุกไม่ถึงกับแห้งนะครับ ลอกหนังออกเท่านั้นแหละครับ โอ้โห เนื้อปลาขาวสะอาดนุ่มลิ้นเลยครับ กินกับผักสด ห่อเหมือนเมี่ยงคำแหละครับ เครื่องเคียงก็จะมี หอมซอย,กระเทียมหั่นบาง ๆ ,ขนมจีน,แคปหมู,ถั่วลิสงเม็ดใหญ่ ๆ ทอด,ขิงซอย ห่อทุกอย่างในใบผักกาด แล้วก็ราดด้วยน้ำจิ้ม เท่านั้นแหละหครับ แทบไม่อยากหยุดปากเลยทีเดียว อาหารอย่างอื่นที่สั่งมากินด้วยได้ เยอะแยะเลยครับ ส้มตำหลากหลายประเภท จะชอบตำไทย ตำลาว ตำปู ตำมั่ว มีหมดครับ คอหมูย่าง โอย !! จารนัยไม่หมดครับ

ทริปนี้เอาไว้เท่านี้ก่อนแล้วกันนะครับ แล้วพบกันครับ

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประวัติเมืองพัทยา



สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน

ก่อนการเดินทางไปสถานที่จริง ๆ กัน ควรเรียกน้ำย่อยด้วยการรู้จักเมืองนั้น ๆ กันก่อนนะครับ ผมว่าการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ (ด้วยการศึกษาข้อมูลพื้นฐานก่อน) จะทำให้เราสนุกกับการเที่ยวมากยิ่งขึ้น อันนี้หมายถึงการเที่ยวในเชิงธรรมชาตินะครับ ไม่ใช่เที่ยวกลางค่ำกลางคืน ซึ่งในพัทยาเยอะมาก ก ก...... ซึ่งถ้าเที่ยวแบบนี้ไม่ต้องหาข้อมูลหรอกครับ ที่ไหนเจ๋ง ๆ ดูได้ตอนหัวค่ำครับ ถ้าที่ไหนมีรถจอดเยอะ ๆ คนแยะ ๆ นั่นแหละครับ อนุมานได้ว่า น่าจะเจ๋ง

การเข้าไปเที่ยวในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แล้วเรามีข้อมูลสถานที่นั้น ๆ ซักเล็กน้อย จะทำให้เราอินกับสถานที่นั้น ๆ นะครับ (ถ้าไม่เชื่อลองทำตามดูนะครับ) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณผู้อ่านอยากมาเที่ยวพัทยา นึกภาพตามนะครับ หลังจากวางแผนว่าจะมาเที่ยวพัทยาในลองวีคเอนด์นี้ เราก็ขับรถขึ้นทางด่วนที่บางนา ลงโทลเวย์ที่ชลบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าบายพาส ถึงแยกกระทิงลาย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขุมวิท เห็นสหฟาร์มอยู่ขวามือ

นั่นหละครับ เรากำลังเข้าเขตพัทยาแล้วครับ หลังจากนั้นก็หาโรงแรม หรือที่พัก แล้วแต่ความชอบนะครับ (อันนี้เดี๋ยวจะแนะนำให้วันหลังนะครับ) เช็คอินเสร็จ เก็บกระเป๋าเสื้อผ้า หาก๋วยเตี๋ยวไก่ หรืออาหารจานเด็ดกิน (อันนี้ก็จะแนะนำให้วันหลังเหมือนกัน) เสร็จแล้วก็เดินเล่นในห้าง จะรอยัลการ์เดน เซ็นทรัล หรืออะไรก็ว่ากันไป เสร็จแล้วก็เข้าห้องพัก อาบน้ำอาบท่า เตรียมไปกินอาหารทะเล ตกค่ำก็กลับมาเปลี่ยนเสื้อผ้า เดินวอร์คกิ้งสตรีทที่พัทยาใต้ หรือเที่ยวเธค ฯลฯ กลับห้องนอน ตื่นสาย ๆ กินต้มเลือดหมู กลับเข้าห้องนั่งเล่นป๊อกเด้ง บ่าย ๆ ก็ขับรถกลับ หรืออยู่ต่ออีกคืน

เป็นไงครับ พอนึกภาพออกใช่ไหมครับ เพราะคนไปเที่ยวส่วนใหญ่ วิธีการเที่ยวก็จะเป็นแบบนี้ ไม่ได้หาข้อมูลไปก่อน แต่ไม่มีอันไหนผิดหรือถูกหรอกครับ ซึ่งเชื่อว่าเพียงแค่กิจกรรมที่เรามีอย่างที่ผมบอกมานั้นก็มีความสุขเกินบรรยายแล้วครับ ที่นี้ท่านผู้อ่านลองทำตามวิธีการที่ผมแนะนำดูนะครับ ว่าถ้าเราหาข้อมูลเบื้องต้นไปก่อนที่จะไปเที่ยว มันจะทำให้เรารู้สึกเต็มอิ่มมากยิ่งขึ้น


เกริ่นมาซะยาว เข้าเรื่องดีกว่า วันนี้ขอนำเสนอประวัติเมืองพัทยาครับ ผมไม่ได้เป็นคนบันทึกข้อมูลไว้เองหรอกครับ ไปอ่านมาเหมือนกัน อ้างอิงจากวิกิพีเดียน่ะครับ ก็เลยนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่าน ด้วยสไตล์มิสเตอร์โต้ง นะครับ

เมืองพัทยา

พัทยา หรือ เมืองพัทยา เป็นเขตปกครองพิเศษเขตหนึ่ง ที่ตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ฉบับ วันที่ 29 พฤจิกายน พ.ศ. 2521 (เทียบเท่าเทศบาลนคร) อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี ผู้บริหารสูงสุดเรียกว่า "นายกเมืองพัทยา" ปัจจุบันคือ คุณอิทธิพล คุณปลื้ม

เมืองพัทยาจัดเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะหาดทรายที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล จัดได้ว่ามีความสวยงามอีกแห่งของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 140 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งพัทยาแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่ พัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และหาดจอมเทียน

พอคร่าว ๆ แล้วนะครับ ทีนี้มาว่ากันด้วยพงศาวดารเลยนะครับ มาเลยครับ เอ้า! ตามข้าพเจ้ามา

เริ่มรู้จักกันจากคำบอกเล่าต่อกันมาว่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า 3 เดือน พระยาตาก (สิน) ขณะนั้นยังเป็นพระยากำแพงเพชร ลงความเห็นว่า หากกรุงศรีอยุธยายังต่อสู้กับพม่าอย่างอ่อนแอเช่นนี้ ต่อไปจะต้องสูญเสียกรุงให้พม่าอย่างแน่นอน พระยากำแพงเพชรจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกออกไปตั้งหลักใหม่ ให้มีกำลังทัพเข้มแข็งขึ้นค่อยกลับมากู้กรุงคืน พระยากำแพงเพชรได้เริ่มเคลื่อนทัพออกจากค่ายวัดพิชัยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สู้พรางร่นถอยหนีการตามล่า ของทหารพม่าไปพลาง จนกระทั่งเลยเข้าแขวงเมืองชลบุรี พระยากำแพงเพชรหยุดพักทัพที่บริเวณหน้าวัดใหญ่อินทารามในปัจจุบัน แล้วเดินทัพมุ่งตรงไปยังจันทบุรี ระหว่างทางได้พักที่บ้านหนองไผ่ ตำบลนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง ปัจจุบันอยู่ด้านหลังสถานีตำรวจภูธรพัทยา


ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม 2 กล่าวเอาไว้ว่า ขณะที่ นายกลม เป็นนายชุมนุมคุมไพร่ พลอยู่ที่นั่น ตั้งทัพคอยสกัดคิดจะต่อรองพระยากำแพงเพชรในตอนนั้นขึ้นช้างพลายถือปืนนกสับรางแดงพร้อม ด้วยพลทหารที่ร่วมเดินทางมาแห่ล้อมหน้าหลัง ตรงเข้าไปในระหว่างพวกพลนายกลมมาสกัดอยู่ ด้วยเดชะบารมีบันดาลให้นายกลมเกิดเกรงกลัวพระเดชานุภาพวางอาวุธสิ้น พาพรรคพวกพลเข้าร่วมกองทัพกับพระยากำแพง เพชร จากนั้นพระยากำแพงเพชรก็นำทัพไปหยุดประทับ ณ สถานที่ที่มีหนองน้ำครั้งรุ่งขึ้น หรือวันอังคารแรม 6 ค่ำ เดือนยี่


นายกลมจึงนำไพร่พลหมี่นหนึ่งนำทัพไปถึง ณ ตำบลหนึ่ง และหยุดพักเสียหนึ่งคืน วันต่อมาจึงเดินทัพมาถึง นาจอมเทียนและทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ โดยหยุดพักแรมแห่งละคืน ต่อมาชาวบ้านก็เรียกตำบลนี้ว่า ทัพพระยา และเปลี่ยนมาเรียกใหม่ พัทธยา เนื่องจากเห็นว่าตรงบริเวณที่พระยาตากมาตั้งทัพนั้นทำเลดี และมีลมทะเลชื่อ ลมพัทธยา ซึ่งก็คือลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน จึงเรียกสถานที่ แห่งนี้ว่า หมู่บ้านพัทธยา ต่อมาปัจจุบันคำว่า พัทธยา ได้เขียนใหม่เป็น พัทยา


อีกเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พัทยาเป็นที่รู้จักไปทั่ว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เมื่อมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ของทหารอเมริกันประมาณ 4-5 คัน บรรทุกทหารเต็มคันรถ ประมาณคันละ 100 คน จากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่นั่นมีฐานทัพของทหารอเมริกันอยู่ มุ่งมาสู่พัทยา และมาเช่าบ้านตากอากาศของพระยาสุนทร บริเวณตอนใต้ของหาด โดยผลัดกันมาพักผ่อนเป็นงวด งวดละสัปดาห์ จากพฤติกรรมของทหารอเมริกันเช่นนี้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวเมืองพัทยาตอนนี้เอง จากสภาพหมู่บ้านชายทะเลที่เงียบสงบ ก็พลันเปลี่ยนกลับกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศ


ในเวลาต่อมา หมู่บ้านพัทยาก็ถูกพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ในระดับนานาชาติ เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกมุมโลก อย่างเช่นปัจจุบัน


สภาพอากาศ


ฤดูหนาว (เดือน พฤศจิกายน ถึง เดือน กุมภาพันธ์) - มีฝนตกปรอยๆ เป็นช่วงสั้นๆ ( เรียกว่า ฝนชะช่อมะม่วง) อากาศชื้นราว50% อุณหภูมิประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่อากาศดี เหมาะแก่การท่องเที่ยว และแนะนำผู้มาเยือนให้มา ในช่วงฤดูกาลนี้


ฤดูร้อน (เดือน กุมภาพันธ์ ถึง เดือน พฤษภาคม) - มีฝนตกเป็นบางโอกาส อากาศชื้นประมาณ 75% อุณหภูมิประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส ระวังพายุ ฟ้าคะนอง


ฤดูฝน (เดือน มิถุนายน ถึง เดือน ตุลาคม) - เป็นฤดูที่มีฝนติดต่อกันยาวนาน ประมาณ 90 % อุณหภูมิประมาณ 25-35 องศา เซลเซียส



แต่ตอนนี้ เมืองพัทยา โปรโมทว่าสามารถมาเที่ยวได้ทุกวันครับ ไม่ต้องเลือกสภาพอากาศหรอกครับ ยกเว้นวันเลือกตั้งครับ เพราะดริ๊งก์ไม่ได้ (อันนี้พูดเล่นพูดเล่นนะครับ) มาเที่ยวเถอะครับ เพียงแต่ร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะปิดเท่านั้นเอง


สถานที่แนะนำ


นาเกลือ

หลังจากขับรถผ่านบ้านสุขาวดี เพื่อเข้าเขตพัทยาแล้ว แยกไฟแดงแรก (จะมองเห็นสะพานลอยคนข้าม) ตรงนี้แหละครับเรียกว่า แยกนาเกลือ เลี้ยวขวาตรงแยกไฟแดงก็จะเข้าไปชุมชนบ้านนาเกลือนะครับ หลาย ๆ คงจะเข้าใจเหมือน ๆ กันนะครับว่า ชุมชนนาเกลือ เนี่ย ชาวบ้านในสมัยก่อนต้องทำนาเกลือกันแน่ ๆ เลย แต่ผิดถนัดครับ คำว่าชุมชุมนาเกลือ เพี้ยนมาจากคำว่า บ้านน่ากลัว ครับ เนื่องด้วยสมัยก่อน บ้านนาเกลือ อยู่ไกลจากเมืองมาก บริเวณนั้นจะมีพื้นที่ป่าหนาทึบ จะมีเพียงชุมชนเล็กที่กระจุกตัวอยู่โดยรอบบริเวณลานโพธิ์ (บริเวณตลาดขายอาหารทะเลสด) หรือที่เรียกว่าตลาดลานโพธิ์ เมื่อก่อนตั้งอยู่ท่ามกลางป่า และทะเล คนภายนอกเข้าถึงยาก ก็เลยเรียกว่า "บ้านน่ากลัว" จนเพี้ยนมาเป็น "นาเกลือ" ในปัจจุบันครับ (ส่วนการตลุยตลาดนาเกลือ หรือของกินเด็ด ๆ จะมาโม้วันหลังครับ) ตอนนี้แนะนำถ้าจะซื้อของทะเลสด ไปที่นาเกลือ ครับ



วันนี้ เอาแค่นี้ก่อนนะครับ สำหรับประวัติเมืองพัทยา แบบย่อ ๆ ตามสไตล์มิสเตอร์โต้ง ทีนี้ท่านผู้อ่านก็คงจะพอทราบบ้างแล้วนะครับ เวลาไปซื้ออาหารทะเลสด ๆ ที่ตลาดนาเกลือ รับรองได้ว่าได้อาหารทะเลสด ๆ แท้ ๆ ราคากันเอง แล้วก็จะได้รู้สึกว่า " อ๋อ นาเกลือ เมื่อสมัยก่อนเค้าเรียก บ้านน่ากลัว นี่เอง"

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Pattaya Begin

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

มิสเตอร์โต้ง ขอรายงานตัวครับ จั่วหัวชื่อเรื่องไว้ค่อนข้างน่าตื่นเต้น "Pattaya Begin" เหมือนกับว่าจะพาไปเป็น Batman ไปต่อสู้กับเหล่าร้ายอย่างงั้นแหละ หามิได้ครับ สาเหตุที่จั่วหัวแบบนี้ เนื่องด้วยเพราะว่าต้องการสื่อให้เห็นถึงการต้องการเริ่มต้นที่ พัทยา เพื่อมาประเทศไทย ครับ


ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังกรอบเป็นข้าวเกรียบ ผนวกกับสถานการณ์การเมืองในบ้านเรา มีผลทำให้ นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวในบ้านเรายกเลิกทัวร์กันเกือบจะเกลี้ยง ประเทศชาติขาดรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งแทบจะไม่มีต้นทุนเลย ไปเยอะมาก


มิสเตอร์โต้ง เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดครับ แต่มาพำนักพักอาศัยอยู่ที่ พัทยา ด้วยเหตุที่ว่ามาประกอบกิจการเล็ก ๆ เพื่อเลี้ยงครอบครัวอยู่ที่นี่ ก็เลยนึกถึงบุญคุณของพัทยา ที่ทำให้เรายืนอยู่ทุกวันนี้ได้ เลยเกิดความคิดแวบ ๆ มาในหัวสมองว่า ทำอย่างไรถึงจะให้คนมาเที่ยวเมืองไทย เยอะ ๆ เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในประเทศ เลยปิ๊งขึ้นมาว่า เอ่! ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็ต้องมีเหตุให้เดินทางไปนู่นไปนี่อยู่เป็นประจำ ทำไม่เราไม่เขียนอะไรต่ออะไรซักเล็กน้อยเพื่อเป็นการแนะนำให้คนไม่เคยรู้จักได้รู้จัก ให้คนที่พอรู้จักได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ให้คนที่รู้จักดีอยู่แล้วได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเข้ามาอีก ซึ่งมันน่าจะดีกว่าพวกรายการที่ถ่ายทำเกี่ยวกับรายการท่องเที่ยว หรือรายการพาไปกิน เพราะรายการทีวี ดูทีเดียวก็ลืม แต่ลักษณะของเรามันมีการบันทึกไว้เป็นข้อเขียน น่าจะเด็ดกว่า


ด้วยความที่อยู่พัทยา ก็เลยจะเริ่มต้นแนะนำที่พัทยาก่อนนะครับ เพื่อแนะนำให้ไปเที่ยวต่อที่อื่น ๆ ในประเทศ ด้วยเวอร์ชั่นภาษาไทย ผู้อ่านส่วนใหญ่ต้องเป็นคนไทยแน่ ๆ เอาหล่ะน่า ไทยเที่ยวไทย ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ ครับ ! แล้วเดี๋ยวค่อยแปลเป็นภาษาปะกิตครับ เพื่อให้พวกฝรั่งได้อ่านกันบ้าง (ถ้าพวก he เข้ามาอ่าน) รูปแบบการนำเสนอน่าจะเป็นแบบรวมมิตรนะครับ อาทิ พาไปรู้จักกับ ที่กิน,ที่พัก,ที่เที่ยว ส่วนจะเป็นอย่างไรโปรดติดตามนะครับ
มิสเตอร์โต้ง